บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ต้นไม้เต้นระบำได้



ผมไปอ่านพบข่าวต้นไม้เต้นระบำได้ ก็เลยตามไปหาความรู้ดู  ปรากฏว่า เป็นจริงเสียด้วย  ขอให้ดูวิดิโอด้านบนให้จบด้วย  เวลาไม่นานประมาณ 1 นาที 27 วินาที

วิดิโอที่นำมาให้ดูด้านบนนั้น เป็นของ Odd Science ต้นไม้นั้นชื่อ The Telegraph Plant

คนที่สนใจมากๆ ก็ลองใช้คำ The Telegraph Plant จะเห็นว่า มีคนลองเล่นกับต้นไม้ชนิดนี้ และเคลื่อนไหวได้เมื่อได้ยินเสียงเพลงจริง

จะว่าไป ผมก็รู้เรื่องนี้เหมือนกัน แปลกใจและน่าสนใจดี ก่อนหน้านี้รู้จักแต่ “ต้นดิกเดียม” ที่จังหวะน่าน 

ต้นดิกเดียม” นี่ เหมือนคนขี้จั๊กกะจี้  ใครไปลูบๆ คลำๆ มันก็จะสะดีดสะดิ้งได้

อย่างไรก็ดี  อ่านไปอ่านมา ผมก็พบว่า ประเทศไทยก็มีต้นไม้เต้นระบำได้  ข้อมูลได้มาจากหน้าเว็บ “สาวน้อยเริงระบำ”  ของเว็บไทยโพสต์

สาวน้อยเริงระบำเป็นสมุนไพรกลุ่มว่านประเภทหนึ่ง สาวน้อยหรือช้อยนางรำเริงระบำ แม้จะจัดว่าเป็นว่าน แต่กลับไม่ใช่พืชลงหัวอย่างว่านทั้งหลาย เป็นพืชในตระกูลเดียวกันกับถั่ว คือวงศ์ LEGUMINOSAE

ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Codariocalyx motorius Ohashi ชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ ค่อยช้างรำ ช้อยช่างรำ นางรำ ว่านมีดพับ เคยแมะคว้า แพงแดง Telegraph plant

เป็นต้นไม้ขนาดเล็ก สูงประมาณ 90 เซนติเมตร ส่วนผิวของลำต้นนั้นจะเป็นสีไม้แห้ง ใบ มีลักษณะแยกเป็นใบย่อย 3 ใบ รูปไข่หรือรูปไข่แกมใบหอก ปลายใบมน ด้านบนมัน ด้านล่างมีขนละเอียด มีสีเขียว ยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร กว้าง 1-3 เซนติเมตร

บริเวณที่กระดิกได้ คือ ตรงโคนใบ ดอก จะเป็นดอกเล็กๆ คล้ายดอกถั่วแปบ แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก มีสีม่วงปนขาว (คล้ายสีของดอกผักตบ) ฝักมีลักษณะแบนๆ

ความมหัศจรรย์ของสมุนไพรชนิดนี้อยู่ที่ เมื่อได้ยินเสียงดนตรี เสียงปรบมือ จะเกิดการเคลื่อนไหวไปตามจังหวะ ซึ่งต่างจากต้นไม้ที่โดนลมพัด

ซึ่งสันนิษฐานว่า คงเป็นเพราะต้นไม้นี้ มีปุ่มที่สามารถรับคลื่นเสียง และคลื่นเสียงคงไปกระทบต่อสารภายในต้นไม้ แล้วส่งผลให้หูใบกระดิกหรือเคลื่อนไหวได้ ในลักษณะเหมือนนางรำละคร จึงเป็นที่มาของชื่อ “สาวน้อยเริงระบำ”

ข้อมูลจากเว็บไทยโพสต์นี่ สันนิษฐานว่า ต้นช้อยนางรำมีปุ่มรับคลื่นเสียง คลื่นเสียงทำให้หูใบกระดิกได้ 

คำสันนิษฐานนี้ เข้าท่าดีเหมือนกัน คือ ไปสันนิษฐานให้คล้ายกับการทำงานของคน แต่มันไม่หลักวิชาการรองรับเลย  คือ เป็นการเดาเอาดื้อๆ

แต่ก็ถือว่า คนที่กล้าเดาอย่างนี้ มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดี เพราะ หลายๆ คน รับรู้เฉยๆ เท่านั้น ไม่มีปฏิกิริยาอะไรเลยเสียด้วย

มีคนนำเรื่องดังกล่าวไปตั้งกระทู้เพื่อขอความคิดเห็นจากคนอื่นๆ กระทู้ชื่อ “ผมนี้งงเลย...ต้นไม้เต้นระบำได้

จากกระทู้ดังกล่าวได้ความคิดเห็นที่น่าสนใจ ดังนี้

ความคิดเห็นที่ 6

ผมคิดว่า เป็นกลไกการหุบใบเหมือนต้นไมยราพ ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นแบบทั่วๆ ไปครับ คือไม่ว่าจะถูกกระตุ้นจากสิ่งใด (แมลง มือคน แรงสั่นสะเทือน เสียง)

มันก็จะทำให้ motor cell ของมันถูกกระตุ้น และเกิดปฏิกิริยาเคมีขึ้นภายในโคนใบ

ทำให้แรงดันน้ำที่กระเปาะโคนใบเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ใบเต้นได้แบบนั้นครับ

ความคิดเห็นดังกล่าวนั้น มีคนมาแย้งในความคิดเห็นที่ 8 ดังนี้

ความคิดเห็นที่ 8

เรียนคุณผ้าติดตา ครับ

อันนี้ผมเองก็ไม่ทราบจริงๆ ว่าต้นช้อยนางรำมันทำงานยังไงนะครับ เพราะว่า.. ต้นช้อยนางรำทำงานต่างจากไมยราพในแง่การรับการตอบสนองนะครับ

คือ จะบอกว่ามันไว (sensitive) ต่อการสั่นสะเทือนมากกว่าไมยราพก็ไม่ถูก เพราะต้นช้อยนางรำ เอามือแตะแล้วใบไม่ขยับ ไม่หุบ ไม่บิด ครับ!

เอาว่าสะเทือนแรงอย่างเขย่ากิ่ง ก้านใบมันก็จะไม่บิด ไม่กระดิก เลยครับ

ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ การบิดใบไปมาได้นี้ น่าจะมีประโยชน์ในทางชีววิทยาสักอย่าง ต่อชีวิตในธรรมชาติของต้นไม้ต้นนี้

คือ ถึงแม้จะไม่มีเสียง ไม่มีลม แบบเอาครอบแก้วมาครอบต้นมันแล้วสังเกต

ใบมันก็ยังบิด สั่น เปลี่ยนทิศไปเรื่อยๆ อยู่ดี แต่เปลี่ยนช้ามากๆ ต้องนั่งจ้องมัน (ประมาณ 5-6 นาที จะเห็นมันขยับใบ)

พอมีเสียงปุ๊บ มันจะรีบบิดขยับใหญ่เลย เร็วจนเราสังเกตได้จะๆ แบบในคลิป


ความคิดเห็นที่ 9 นี่ถึงน่าสนใจ

ต้องแบบนี้สิ ถึงจะเป็นแท็ก [เรื่องลึกลับ] [วิทยาศาสตร์] ที่น่าสนใจ เพราะจนถึงตอนนี้ เราก็ยังไม่รู้เหตุผลอยู่ดีว่า มันขยับทำไม ขยับแล้วได้อะไร

ลักษณะนี้เกิดขึ้นและถูกเลือกในทางชีววิทยาได้อย่างไร

ที่ศรีลังกา ต้นไม้ต้นนี้ชื่ออย่างเท่เลย!  ต้น ปราณะชีวะ (ถอดเป็นคำไทยได้ ปราณชีพ ปราณชีวะ)
(แปลชื่อตรงๆ เลย เพราะมันขยับได้ นี่ล่ะ)

ที่ว่าน่าสนใจ เพราะ ผมคิดว่า ความรู้จากวิชาธรรมกายตอบได้ว่า “ทำไม ต้นช้อยนางรำถึงเต้นรำได้เมื่อได้ยินเสียงเพลง

ในทางวิทยาศาสตร์อะตอมยังเป็นสิ่งที่เล็กที่สุดอยู่ แต่ในอะตอมนั้น มีการศึกษาลึกลงไปอีกว่า ประกอบด้วยอะไรบ้าง 

เท่าที่รู้จักกันทั่วไปก็คือ “อนุภาค” ซึ่งจะมี “ปฏิอนุภาค”  “อนุภาค” กับ “ปฏิอนุภาค” ของอะตอมนี่ นักวิทยาศาสตร์เข้าสามารถแยกออกจากกันได้ 

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เข้าใจเลยก็คือ “อนุภาค” กับ “ปฏิอนุภาค” มันติดต่อกันได้ด้วยความเร็วเท่าแสงหรือเร็วกว่าแสงเสียด้วยซ้ำ (อ่านรายละเอียดได้ในบทความ “เห็น จำ คิด รู้ –อนุภาคพื้นฐาน”)

ในทางวิชาธรรมกายนั้น  สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดก็คือ “เห็น-จำ-คิด-รู้” ถ้าอยู่ในกายมนุษย์ก็คือ “ใจ-จิต-วิญญาณ”

เห็น-จำ-คิด-รู้” มีอยู่ในสสารทุกชนิด คือ ในสิ่งที่ไม่มีชีวิตด้วย สิ่งที่แข็งจะมีน้อย สิ่งที่ไหลได้จะมีมากกว่า  อิฐ หิน ดิน ทราย น้ำ ฯลฯ ก็มี “เห็น-จำ-คิด-รู้” เป็นองค์ประกอบด้วยทั้งนั้น

“ต้นช้อยนางรำ”   คงมี “เห็น-จำ-คิด-รู้”  มากกว่าต้นไม้อื่นๆ และคงชอบเต้นรำด้วย  เมื่อได้ยินเสียงเพลง มันถึงเต้นรำกันอย่างนั้น

สำหรับคำถามที่ว่า “มันขยับทำไม ขยับแล้วได้อะไร”  คำตอบที่ผมคิดเองก็คือ “ธรรมชาติของต้นช้อยนางรำเป็นเช่นนั้น






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น